แมลงวัน
(Flies)
แมลงวันจัดอยู่ใน Phylum Arthropoda จัดอยู่ใน Class Insecta Order Diptera และ Suborder Cyclorrhapha มีการเจริญเติบโตเป็น 4 ระยะ เช่นเดียวกับยุง คือ ระยะ ไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวแก่ ถ้าอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมแมลงวันจะวางไข่ครั้งละ 100-150 ฟอง แมลงวันมีปาก 2 แบบคือ แบบที่ใช้ดูด ได้แก่ แมลงวันคอก และแบบที่ใช้ขูดหรือครูด ได้แก่แมลงวันบ้าน เป็นต้น แมลงวันที่เป็นปัญหาต่อการสาธารณสุขคือแมลงวันบ้าน และแมลงวันหัวเขียว
1.แมลงวันบ้าน ( House Flies )
แมลงวันบ้านที่พบมากที่สุดคือ Musca domestica แมลงวันบ้านเป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลกยกเว้นบริเวณที่มีอากาศหนาวจัด ซึ่งเป็นพาหะนำโรคหลายชนิด ได้แก่ อหิวาตกโรค ไข้รากสาด บิด เป็นต้น และเป็น Intermediate host ของหนอนพยาธิบางชนิด ซึ่งแมลงวันนำเชื้อโรคมาสู่คนได้โดย การสำรอกน้ำย่อยและน้ำลายออกมาปนเปื้อนอาหารของมนุษย์ จึงทำให้เป็นโรค
วงจรชีวิตของแมลงวันบ้าน
ระยะเป็นไข่ แมลงวันบ้านมักจะวางไข่ตามมูลสัตว์ สิ่งปฏิกูล มูลฝอยเปียก น้ำเสีย และสารอินทรีย์เน่าเปื่อยอื่น ๆ ไข่มีรูปร่างเป็นวงรี สีขาวนวล ขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร ถ้าหากอากาศอบอุ่นจะแตกตัวออกเป็นตัวอ่อนภายใน 1/2-1 วัน
ระยะตัวอ่อน ตัวอ่อนของแมลงวันบ้านมีรูปร่างทรงกระบอกปลายข้างหนึ่งเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ 10-12 มิลลิเมตร ตัวอ่อนลอกคราบ 3 ครั้ง ถ้าอากาศอบอุ่นภายในเวลา 4-7 วัน มันจะคลานออกมาจากสิ่งปฏิกูล ตกลงสู่พื้นกลายเป็นดักแด้
ระยะดักแด้ ดักแด้ของแมลงวันบ้านมักอยู่ในที่สงบ เช่น ในดิน กองเศษไม้ใบหญ้า เป็นต้น ไม่มีการเคลื่อนไหวไปไหน อายุการเป็นดักแด้ขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ ถ้าอากาศอบอุ่นเป็นเวลา 3 วันก็จะลอกคราบกลายเป็นดักแด้ แต่ถ้าอากาศเย็นอาจนานถึง 26 วัน จึงจะกลายเป็นตัวแก่
ระยะตัวแก่ ตัวแก่ของแมลงวันบ้านตัวผู้มีลำตัวยาวประมาณ 5.8-6.5 มิลลิเมตร ตัวเมียยาวประมาณ 6-9 มิลลิเมตร มีสีเทาหม่น มีหนวดเส้นเล็ก ๆ 2 เส้น สำหรับรับความรู้สึก มีปีก 2 คู่ มีลักษณะใสไม่มีเกล็ด มีขา 3 คู่ ส่วนท้องและอกมีสีเหลืองปนเทา มีรอยเส้นตามยาวแคบ ๆ อยู่ 4 เส้น สามารถบินได้ไกลจากแหล่งกำเนิดในระยะประมาณ 6 ไมล์ ภายใน 24 ชั่วโมง แต่โดยทั่วไปมักบินวนหากินในระยะ 100-500 เมตร ตัวแก่ของแมลงวันบ้านมีอายุประมาณ 1 เดือน
2. แมลงวันหัวเขียว (Blow Flies)
แมลงวันหัวเขียวจะวางไข่บนสิ่งสกปรกเน่าเหม็น เช่น ซากสัตว์ ในช่วงชีวิตของมันสามารถวางไข่ได้ประมาณ 1,000-3,000 ฟอง โดยวางไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง มีการแพร่พันธุ์ได้ 9-10 ครั้ง ตัวแก่มีอายุประมาณ 1 เดือน
วงจรชีวิตของแมลงวันหัวเขียว
ระยะเป็นไข่ แมลงวันหัวเขียวจะวางไข่เป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่มบนซากสัตว์ หรือบางครั้งอาจพบในเนื้อสด ไข่จะมีสีเหลืองอ่อน ภายในเวลา 8 ชั่วโมง ถึง 3 วัน จะแตกออกมาเป็นตัวอ่อน
ระยะตัวอ่อน มีขนาดความยาวประมาณ 10-14 มิลลิเมตร มีสีเทาปนเหลือง ด้านหน้าสุดจะมีตาขออยู่ 1 คู่ ส่วนท้ายของลำตัวมีลักษณเป็นป้านและกว้าง ตัวอ่อนของมันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ มีขน และไม่มีขน ใช้เวลา 2-19 วัน ขึ้นกับอุณหภูมิ จึงจะกลายเป็นดักแด้โดยการตกลงสู่พื้นแล้วชอนไชหาสถานที่แห้งแล้งทำการฝังตัวใต้ดิน
ระยะดักแด้ ดักแด้ของแมลงวันหัวเขียวมีลักษณะคล้ายตัวอ่อน แต่มีขนาดใหญ่กว่า ปลาย 2 ข้างมีลักษณะมน มีสีน้ำตาล ระยะเวลาที่เป็นดักแด้อาจนานประมาณ 3-7 วัน แล้วจะกลายเป็นตัวแก่
ระยะตัวแก่ ตัวแก่ของแมลงวันหัวเขียวมีความแตกต่างกันตามสกุล และชนิด แต่โดยทั่วไปส่วนอกและส่วนท้องมีสีน้ำเงินหรือสีเขียวเหลือง บางชนิดอาจมีสีเขียวปนโลหะ หรือสีบรอนซ์ แวววาว
การควบคุมและป้องกันแมลงวัน
แมลงวันเป็นพาหะนำโรคร้ายแรงหลายชนิดมาสู่มนุษย์ และนำสิ่งสกปรกมาปนเปื้อนอาหารโดยขาของมัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของแมลงวัน ซึ่งมีหลักการดังต่อไปนี้
• การควบคุมแมลงวันภายในอาคารและที่พักอาศัย
การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลภายในอาคารและที่พักอาศัยให้สะอาด เช่น ถังขยะภายในห้องครัวของบ้านหรืออาคารควรมีฝาปิดให้มิดชิดไม่รั่วซึม
การใช้กลวิธีทางกายภาพ เช่น ประตูหน้าต่าง ต้องมีตระแกรงหรือมุ้งลวดไว้เพื่อไม่ให้แมลงวันเข้าบ้าน ทำลายโดยใช้กาวดักแมลงวันตัวแก่ หรือในห้องครัวต้องมีตู้หรือฝาชีครอบอาหารเพื่อป้องกันแมลงวัน เป็นต้น
การใช้วิธีทางเคมี โดยการใช้ยาฆ่าแมลงวันตัวอ่อน และตัวแก่ เช่น 0.1 % ของไพรีทัมผสมกับ 1 % ของมาลาไทออน
• การป้องกันและควบคุมแมลงวันในชุมชน
การบำรุงรักษาความสะอาดในสถานที่ต่าง ๆ เช่นการดูแลรักษาความสะอาดของร้านอาหารให้สะอาดเรียบร้อย ไม่มีเศษอาหารที่เป็นตัวนำให้มีแมลงวัน
การมีระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ดี เช่นหลุมเก็บกักสิ่งปฏิกูลต้องปิดมิดชิดท่อระบายน้ำ ควรมีตระแกรงครอบขนาด 16 mesh เพื่อไม่ให้แมลงวันสามารถเข้าไปได้